วันจันทร์ที่ 23 มกราคม 2568
รายงานพิเศษ - เทศบาลเมืองกะทู้ จังหวัดภูเก็ต มีวิธีลดมลพิษและฝุ่น PM 2.5 จากการจัดการขยะต้นทาง ยกระดับธนาคารขยะ สู่ธนาคารปุ๋ยอินทรีย์
สถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ได้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนในประเทศไทย สร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาล และผลเสียมีแนวโน้มทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น และเป็นที่ทราบกันนดีว่าการก่อให้เกิด PM2.5 จากแหล่งกำเนิดโดยตรงนั้นก็คือ การเผาในที่โล่งแจ้ง ในชนบท ในป่า การขนส่ง การผลิตของโรงงาน โดยหลายส่วนให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหา PM 2.5 อย่างยั่งยืน โดยการสร้างการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะการดึงชุมชนเข้าร่วมกระบวนการปรับระบบการดำเนินชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อช่วยลดต้นกำเนิดของ PM 2.5
เทศบาลเมืองกะทู้ จังหวัดภูเก็ต เป็นอีกหนึ่งท้องถิ่นที่ให้ความสำคัญกับการสร้างความมีส่วนร่วมของชุมชน ในการลดภาวะการเกิด PM 2.5 และมลพิษ ด้วยการจัดตั้งธนาคารขยะ เพื่อคัดแยก จำแนกประเภทเศษวัสดุที่เหลือใช้จากครัวเรือของประชาชนที่อาศัยในพื้นที่ มาบริหารจัดการให้เกิดประโยชน์ ลดมลพิษ สู่การลดการก่อให้เกิด PM2.5 พร้อมยกระดับธนาคารขยะ สู่ธนาคารปุ๋ยอินทรีย์
นายวรรณยุทธิ์ สุทธิกุล นากยเทศมนตรีเมืองกะทู้ เปิดเผยถึงปริมาณขยะในพื้นที่ที่แต่ละวันมากถึง 40-50 ตัน หากคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง ซึ่งบางส่วนสามารถนำมาจัดทำเป็นปุ๋ยอินทรีย์ ที่สามารถนำมาต่อยอดการปลูกพืชผักไร้สารเคมี สู่การลดปัญหาสิ่งแวดล้อมและฝุ่น PM 2.5 จึงขอเชิญชวนประชาชนที่อาศัยในพื้นที่เข้าร่วมเป็นสมาชิกธนาคารขยะ เทศบาลเมืองกะทู้ ที่อนาคตจะเปิดธนาคารขยะให้ครอบคลุมทุกชุมชน เพื่อช่วยลดรายจ่ายการนำขยะไปกำจัดที่เตาเผาะขยะเทศบาลนครภูเก็ต รวมทั้งเป็นการสร้างงาน สร้างอาชีพ ให้กับประชาชนได้อีกทางหนึ่งด้วย
อย่างไรก็ตาม ปัญหาฝุ่น PM2.5 ที่หลายฝ่ายเร่งแก้ปัญหาด้วยมาตรการต่างๆ แต่หากประชาชนไม่ให้ความร่วมมืออย่างจริงจัง ทุกมาตรการที่นำมาแก้ไข ไม่สามารถเกิดผลสำเร็จได้ จึงขอให้ทุกคนร่วมกันลดต้นเหตุการก่อให้ PM 2.5 จากน้ำมือคนอย่างยั่งยืน เพื่อคุณภาพชีวิตที่มีสุขภาพดีและแข็งแรง